พันธุ์ข้าว พื้นเมืองของบ้านเรามีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ในแต่ละพื้นที่สามารถปลูกข้าวที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่หาไม่ได้จากพื้นที่อื่น และถ้าหากนำไปปลูกในต่างพื้นที่ก็จะไม่ได้ผลผลิตที่ดีเหมือนกับปลูกในแหล่งกำเนิด จะเรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์พันธุ์ข้าวของไทยก็ว่าได้ เมื่อปลูกข้าวตรงตามฤดูกาลข้าวเหล่านี้จะมีกลิ่น รส และเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหนือกว่าข้าวที่ขายในตลาดทั่วไป
พันธุ์ข้าว ที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศไทย
1.ข้าวขาวตาแห้ง พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ปลูกในฤดูนาปี เปลือกมีสีเหลืองอ่อน เมล็ดข้าวสีขาวมีลักษณะเรียวยาว เมื่อขัดสีแล้วเมล็ดจะใส มีความคงตัว หุงได้ขึ้นหม้อ เมล็ดร่วนแห้งเรียงตัวสวย ไม่เหนียวเกาะติดกัน มีรสชาติดี ให้พลังงานต่อร่างกาย หารับประทานได้ง่ายตามร้านอาหารทั่วไป
2.ข้าวหอมดง ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในแถบภาคอีสาน เป็นพันธุ์ข้าวจ้าวหอมพื้นเมืองของชาวญัฮกุร เหมาะแก่การปลูกบนที่สูง ในป่าดง เปลือกสีทองนวล เมล็ดข้าวมีลักษณะอ้วนสั้น หางสั้น ขาว ใส มีคุณภาพการหุงต้มได้ดี มีความอ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายมะลิ เหมาะแก่การบริโภค
3.ข้าวพญาลืมแกง เป็นข้าวเหนียวไร่พันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ ชอบขึ้นและเจริญเติบโตในที่สูงที่มีอากาศเย็น ถ้าหากนำไปปลูกในพื้นที่อื่นเมล็ดจะเล็กและไม่มีกลิ่นหอม ข้าวพญาลืมแกงจะมีเปลือกเมล็ดสีฟาง รูปร่างเมล็ดใหญ่อ้วนป้อม หากรับประทานแบบข้าวกล้องข้าวเหนียวจะมีกลิ่นหอม เคี้ยวหนึบ ไม่แข็งกระด้าง รสชาติอร่อย บริเวณเยื่อหุ้มเมล็ดมีปริมาณอะมิโลสต่ำ มีโปรตีนสูง มีโฟลิคแอซิด(โฟเลต) ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นสำหรับสตรีมีครรภ์ มีส่วนช่วยสร้างและซ่อมแซมดีเอ็นเอ
4.ข้าวหอมใบเตย ข้าวนาน้ำฝนพื้นเมืองสายพันธุ์ดีพบได้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง เป็นข้าวจ้าวนาปีที่มีเปลือกเมล็ดสีฟางสวย มีท้องไข่น้อย ข้าวมีความมันวาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อตักลงไปมีความเหนียวนุ่ม คล้ายข้าวญี่ปุ่น แต่ไม่อวบอ้วนเท่า เป็นข้าวที่มีอะมิโลสต่ำเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ถ้ารับประทานไม่หมดสามารถนำกลับมาอุ่นอีกครั้งได้ โดยที่ข้าวยังอ่อนนุ่มและหอมอยู่
พันธุ์ข้าวพื้นถิ่นที่ปลูกเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย
5.ข้าวเล็บนก พบได้ในแถบจังหวัดภาคใต้ เมล็ดข้าวมีขนาดเล็ก ปลายเมล็ดเป็นจุดสีม่วง หุงแล้วมีกลิ่นหอม มียางเหนียวเคี้ยวนุ่ม มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และมีแร่ธาตุสูง ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา บำรุงสมอง กระตุ้นระบบขับถ่าย ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันมะเร็งลำไส้ ให้พลังงาน มีไฟเบอร์สูงช่วยให้อิ่มท้องนาน นิยมนำไปแปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะจะได้เส้นที่มีคุณภาพดี เหนียวนุ่ม
6.ข้าวสังข์หยด เป็นข้าวพันธุ์ไทยปลูกได้ดีที่จังหวัดพัทลุง สามารถปลูกได้ปีละครั้ง เมล็ดข้าวมีสีขาวปนแดง เมล็ดเล็กเรียวยาว หุงขึ้นหม้อ มีความนุ่มหอม เมล็ดมีความคงตัวดีไม่เกาะติดกัน นิยมรับประทานแบบข้าวกล้อง จึงให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ย่อยง่าย มีกากใยสูง กระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายได้ดี มีธาตุเหล็กและฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงโลหิตและป้องกันโรคความจำเสื่อม มีสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง
7.ข้าวไข่มดริ้น เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีรรมราช เป็นสายพันธุ์ที่ใช้เวลาปลูกนานกว่าข้าวพันธุ์อื่น เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาล คุณภาพการขัดสีดีมาก ให้ข้าวเต็มเมล็ด มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกแล้วค่อนข้างร่วนและนุ่ม มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารต้านออกซิเดชั่น ยับยั้งเอนไซม์แอลฟาอะไมเลสและแอลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) ช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน
8.ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดชุมพร ปลูกในฤดูนาปี เมล็ดข้าวรูปร่างเรียวยาว หุงสุกแล้วมีความร่วนแข็ง หุงขึ้นหม้อ เหมาะกับเมนูข้าวผัดชนิดต่าง ๆ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีน อะมิโลส ไนอะซีน ช่วยในเรื่องของระบบประสาทและผิวหนัง เหมาะแก่การนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้น จะมีความเหนียว ไม่ยุ่ย ไม่ขาดง่าย
9.ข้าวดอกพะยอม เป็นพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถปลูกแซมกับต้นยางพาราได้ ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว เมื่อหุงสุกจะมีความร่วน นุ่ม มีกลิ่นหอมราวกับกลิ่นดอกพะยอมซึ่งว่ากันว่ามีหอมกว่าข้าวหอมมะลิ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องปลูกแบบไร่เท่านั้นและไม่ปลูกซ้ำในฤดูกาลเดียวกัน เพราะจะทำให้ข้าวไม่หอมดังเดิม
10.ข้าวเฉี้ยงพัทลุง เป็นพันธุ์ข้าวจ้าวพื้นเมืองของจังหวัดพัทลุงปลูกได้ทั้งนาลุ่มและนาดอน เปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว มีสีขาว ท้องไข่ขนาดปานกลาง คุณภาพการสีดี หุงง่ายทั้งข้าวเก่าและข้าวใหม่ เมื่อหุงสุกจะร่วนแข็ง ไม่หอม นิยมนำมาแปรรูปเป็นขนมจีน ข้าวพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของตลาด
นอกจากข้าวทั้งสิบสายพันธุ์นี้แล้ว ยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกมากมายหลายสายพันธุ์ที่พบได้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้มากขึ้น เพราะให้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค ไม่ต้องใช้ปุ๋ยไม่ต้องพึ่งยา ข้าวพันธุ์พื้นเมืองได้ชื่อว่าเป็นข้าวที่หากินได้ยาก เกษตรกรมักจะปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เมื่อมีผลผลิตเหลือจึงจะนำออกจำหน่าย สำหรับผู้ที่สนใจทดลองรับประทานข้าวพันธุ์พื้นเมืองสามารถหาซื้อได้จากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง